เคล็ดลับและบทเรียน >> เคล็ดลับและบทเรียนทั้งหมด
พระอาทิตย์ทรงกลด: เคล็ดลับและเทคนิคการถ่ายภาพรวมถึงการปรับแต่ง
แสงทรงกลดรอบดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์เป็นปรากฏการณ์แสงอันน่าตื่นตาตื่นใจที่ทำให้ถ่ายภาพได้สวยงามอย่างน่าทึ่ง แม้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับอากาศเย็น แต่ปรากฏการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกฤดูกาล และเคยมีผู้พบเห็นมาแล้วแม้กระทั่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอากาศร้อนชื้น! ในบทความนี้ เราจะมาเรียนรู้กันว่าพระอาทิตย์ทรงกลดเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมถึงตัวอย่างเทคนิคการถ่ายภาพปรากฏการณ์นี้และขั้นตอนการปรับแต่งภาพ (เรื่องโดย: Chikako Yagi, Digital Camera Magazine)
EOS R5/ RF15-35mm f/2.8L IS USM/ FL: 15 มม./ Aperture-priority AE (f/8, 1/800 วินาที, EV -0.7)/ ISO 100/ WB: แสงแดด
สถานที่: สุสานโบราณไคโชชิสุกะ จังหวัดยามานาชิ/ ต้นเดือนเมษายน/ 12:50 น.
อาทิตย์ทรงกลดที่ลอยอยู่บนท้องฟ้าสีครามเหนือหมู่ไม้ในภาพที่ดูราวกับภาพวาดอันเหนือจริงนี้ถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์ที่ 15 มม. ฉันลองจัดองค์ประกอบภาพหลายๆ แบบเพื่อให้ต้นไม้ที่ดูแปลกตาอยู่ในเฟรมภาพ ภาพที่ดูเหมือนอยู่เหนือกาลเวลาในอีกภพหนึ่งนี้ถ่ายโดยอาศัยกระบวนการขจัดองค์ประกอบออกไป ซึ่งทำให้ลักษณะเด่นอื่นๆ ทั้งหมดของสถานที่แห่งนี้ไม่ปรากฏอยู่ในภาพ
ขั้นตอนที่ 1: มองหาเมฆซีร์โรสเตรตัส (เมฆชั้นสูง)
เมื่อคุณเข้าใจสภาพอากาศที่ทำให้มีโอกาสเกิดพระอาทิตย์ทรงกลด คุณจะมีความพร้อมมากขึ้นในการมองหาปรากฏการณ์นี้
สภาวะที่ทำให้เกิดพระอาทิตย์ทรงกลด:
– เมื่อมีเมฆซีร์โรสเตรตัส (เมฆชั้นสูงบางๆ ที่ดูเหมือนม่านบางเบา) เป็นจำนวนมาก
– เมื่อพายุ แนวปะทะอากาศ หรือหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวใกล้เข้ามา
พระอาทิตย์ทรงกลดเป็นปรากฏการณ์แสงของสภาพอากาศที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อเมฆซีร์โรสเตรตัสที่มีรูปร่างเหมือนม่านบางๆ และเกิดจากผลึกน้ำแข็งขยายตัวจนครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง แสงทรงกลดเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อผลึกน้ำแข็งในก้อนเมฆทำให้แสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านเข้ามาเกิดการหักเหที่มุมใดมุมหนึ่ง แม้ปรากฏการณ์นี้จะสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีในประเทศญี่ปุ่น แต่จะเกิดขึ้นบ่อยกว่าในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิหรือช่วงต้นฤดูร้อนเมื่อแนวปะทะความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งทางใต้
เมฆหางเครื่องบินก็เกิดขึ้นในสภาวะเช่นเดียวกับอาทิตย์ทรงกลดเช่นกัน ดังนั้น หากคุณสังเกตเห็นว่ามีเมฆหางเครื่องบินบนท้องฟ้ามากขึ้นและเกิดขึ้นนานกว่าปกติ นี่คือสัญญาณว่าอากาศมีสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการเกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด หลังจากที่เห็นว่ามีเมฆหางเครื่องบินเป็นจำนวนมาก ฉันก็หันหน้าไปทางดวงอาทิตย์ ซึ่งมันเหลือเชื่อจริงๆ ที่มีแสงทรงกลดอยู่รอบๆ!
เคล็ดลับระดับมือโปร: ดูพยากรณ์เมฆ
ใช้เว็บไซต์หรือแอปพยากรณ์เมฆเพื่อตรวจดูเมฆชั้นสูง คุณสามารถใช้ Windy.com ซึ่งมีแอปสมาร์ทโฟนสำหรับทั้งอุปกรณ์ Apple และ Android
ขั้นตอนที่ 2: ถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์
24 มม. กว้างไม่พอสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ทั้งหมด
ระยะมุมกว้าง 24 มม. ของเลนส์ซูมมาตรฐานส่วนใหญ่จะไม่กว้างพอที่จะถ่ายภาพทั้งพระอาทิตย์ทรงกลดและทิวทัศน์ที่อยู่ด้านล่างได้
เมื่อเราเห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ดูงดงามแปลกตาอย่างพระอาทิตย์ทรงกลด สายตาของเราจะมองไปที่ปรากฏการณ์นั้นก่อน แต่ภาพของคุณจะโดดเด่นมากขึ้นหากทำให้พระอาทิตย์ทรงกลดเป็นตัวแบบรองแล้วหาองค์ประกอบอื่นในทิวทัศน์รอบๆ มาเป็นตัวแบบหลัก
ทางยาวโฟกัสที่เหมาะสมที่สุดจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของดวงอาทิตย์และขนาดของแสงทรงกลด แต่คุณจะถ่ายภาพได้ง่ายกว่าหากใช้เลนส์มุมกว้างอัลตร้าไวด์อย่าง RF15-35mm f/2.8L IS USM ซึ่งฉันใช้ถ่ายภาพหลักที่อยู่ด้านบน
เคล็ดลับการถ่ายภาพ
1. เปิดรับแสงโดยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดส่วนที่สว่างเกินไป
แสงทรงกลดที่เกิดขึ้นรอบๆ ดวงอาทิตย์ทำให้ภาพนี้เป็นภาพที่มีความเปรียบต่างสูง หากคุณเปิดรับแสงในส่วนที่เป็นทิวทัศน์ อาจกลายเป็นการทำให้อาทิตย์ทรงกลดได้รับแสงมากเกินไปและมองไม่เห็นรายละเอียดในส่วนที่สว่าง
– เปิดใช้งาน ฟังก์ชัน Highlight Tone Priority เพื่อปกป้องส่วนที่สว่างในภาพของคุณ
– หากคุณถ่ายภาพในโหมดกึ่งอัตโนมัติ ให้ใช้ค่าการชดเชยแสงติดลบ ข้อควรจำ: คุณสามารถทำให้โฟร์กราวด์สว่างขึ้นได้ในภายหลังเสมอระหว่างการปรับแต่งภาพ
– แสดงฮิสโตแกรมและตรวจดูว่าภาพไม่มีส่วนสีขาวที่สว่างจ้ามากเกินไป คุณสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ฮิสโตแกรมและเคล็ดลับอื่นๆ ได้ที่ ทำความเข้าใจช่วงไดนามิกเรนจ์: วิธีหลีกเลี่ยงแสงสว่างโพลนที่ไม่จำเป็น
2. หลีกเลี่ยงการใช้ฟิลเตอร์เลนส์หากทำได้
ฟิลเตอร์เลนส์อาจทำให้เกิดแสงหลอกและแสงแฟลร์ ไม่ใช้เลยจะเป็นการดีที่สุด
ด้านล่างนี้คือลักษณะของภาพที่ได้จากกล้องก่อนการปรับแต่ง:
ขั้นตอนที่ 3: ลบหมอกออกไปในกระบวนการปรับแต่ง


×ไม่ควรทำ: ทำให้ภาพสว่างขึ้นทั้งภาพ
✓ควรทำ: ลบหมอกออกไปจากนั้นจึงทำให้เงาสว่างขึ้น
เมฆซีร์โรสเตรตัสมักดูเหมือนหมอกเนื่องจากมีปริมาณไอน้ำมาก หากคุณทำให้ภาพสว่างขึ้นมากเกินไปขณะพยายามทำให้ทิวทัศน์ในโฟร์กราวด์สว่างขึ้น อาจทำให้พื้นที่สว่างรอบๆ ดวงอาทิตย์กลายเป็นส่วนสว่างโพลน
หากซอฟต์แวร์ปรับแต่งภาพของคุณมีเครื่องมือลบหมอกก็สามารถใช้งานได้เลย! เครื่องมือนี้จะทำให้รูปร่างของแสงทรงกลดดูชัดเจนขึ้น ท้องฟ้าดูแจ่มใสขึ้นและมีสีครามชัดขึ้น รวมถึงช่วยลดแสงสว่างโพลนได้ในเวลาเดียวกัน จากนั้นเพิ่มความสว่างในส่วนเงาเพื่อให้โฟร์กราวด์สว่างขึ้น
การปรับแต่งภาพในเบื้องต้นของฉันด้วย Adobe Lightroom Classic
หลังจากนั้นฉันจึงปรับแต่งโทนสีตามที่ตนเองต้องการ
ดูเคล็ดลับและเทคนิคการค้นหา การถ่ายภาพ และการปรับแต่งภาพปรากฏการณ์ทางสภาพอากาศได้ที่:
ทิวทัศน์ฤดูหนาวแสนมหัศจรรย์: เมื่อเกล็ดหิมะระยิบระยับราวอัญมณีกลายเป็นเสาแสงอาทิตย์
ถ่ายภาพตระการตาให้โดนใจ: น้ำตกเมฆ
การถ่ายภาพทิวทัศน์: เทคนิคในการถ่ายภาพพายุที่กำลังเคลื่อนตัว
เคล็ดลับสำหรับการถ่ายภาพรุ้งกินน้ำ
เลนส์ในบทความนี้
เลนส์ซูมมุมกว้างอัลตร้าไวด์รุ่นอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
– RF14-35mm f/4L IS USM
– RF10-20mm f/4L IS STM
– RF15-30mm f/4.6-6.3 IS STM
– (สำหรับผู้ใช้กล้อง APS-C) RF-S10-18mm f/4.5-6.3 IS STM
เกี่ยวกับผู้เขียน
นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation
Chikako Yagi มีอายุเพียง 20 ปีตอนที่เธอเริ่มเรียนรู้การถ่ายภาพด้วยตัวเองโดยใช้กล้องฟิล์ม SLR เธอออกจากงานประจำมาเป็นช่างภาพทิวทัศน์เต็มตัวในปี 2016 เธอเคยฝึกงานกับช่างภาพชื่อดังหลายราย เช่น Kiyoshi Tatsuno และ Tomotaro Ema และยังเป็นสมาชิกของชมรม Shizensou Club ซึ่งก่อตั้งโดย Kiyoshi Tatsuno และเป็นหนึ่งในชมรมช่างถ่ายภาพทิวทัศน์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ในปี 2013 เธอได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 10 อันดับช่างภาพฝีมือดีของชมรม Tokyo Camera Club
www.chikakoyagi.com
Instagram: @chikako_yagi