ใช้เลนส์ซูม f/2.8 อย่างมืออาชีพ (1): การทำให้ตัวแบบของคุณโดดเด่น


เคล็ดลับและบทเรียน >> เคล็ดลับและบทเรียนทั้งหมด

ใช้เลนส์ซูม f/2.8 อย่างมืออาชีพ (1): การทำให้ตัวแบบของคุณโดดเด่น

2025-04-30




0



2


เลนส์ซูม f/2.8 คือเลนส์ที่คุณสามารถใช้ค่ารูรับแสง f/2.8 ได้แม้ในขณะซูมจนสุด ซึ่งช่วยให้การถ่ายภาพของคุณมีความยืดหยุ่นมาก คุณจะมีอิสระมากขึ้นในการควบคุมการตั้งค่าเมื่อมีแสงน้อย ถ่ายภาพที่มีโบเก้สวยงามได้ง่ายขึ้น และยังสามารถเปลี่ยนเฟรมภาพได้อย่างรวดเร็วเพียงหมุนวงแหวนซูมเท่านั้น คุณสมบัติเหล่านี้มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ที่ช่างภาพมักจะประสบปัญหาข้อจำกัดในด้านตำแหน่งการถ่ายภาพ

ในซีรีย์บทความที่มี 4 ตอนนี้ เราจะมาแบ่งปันไอเดียในการนำความสามารถของเลนส์ซูมรูรับแสงคงที่ f/2.8 มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงเคล็ดลับในการตั้งค่าอย่างละเอียดเพื่อให้ได้ภาพที่ดียิ่งขึ้น เพราะเราจะทำสิ่งที่เลนส์ซูมแบบปรับรูรับแสงได้ทั่วไปทำได้ไปทำไม หากเลนส์ซูม f/2.8 สามารถทำได้มากกว่านั้น (เรื่องโดย: Chikako Yagi, Digital Camera Magazine)

บทความนี้คือตอนที่ 1 จากซีรีย์ที่มีทั้งหมด 4 ตอน คลิกที่ลิงก์เพื่ออ่านตอนอื่นๆ! 
(โปรดรอก่อนหากลิงก์ยังไม่สามารถใช้งานได้ บทความจะพร้อมให้คุณอ่านในเร็วๆ นี้!)

 

ในบทความนี้:

ทำให้ตัวแบบของคุณโดดเด่น: หลักการของโบเก้

สิ่งหนึ่งที่เลนส์ซูมรูรับแสงคงที่ f/2.8 อย่าง RF24-70mm f/2.8L IS USM และ RF28-70mm f/2.8 IS STM ทำได้ดีคือการสร้างโบเก้ที่มักจะปรากฏเป็นภาพเบลอสวยนวลตาในแบ็คกราวด์ ยิ่งแบ็คกราวด์เบลอเท่าใด ตัวแบบก็จะดูโดดเด่นในสายตาผู้ชมมากขึ้นเท่านั้นราวกับมีไฟสปอตไลต์ส่อง! เอฟเฟ็กต์นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การแยกตัวแบบออกจากแบ็คกราวด์” (subject-background separation)

ภาพใบไม้แบบโคลสอัพที่มีโบเก้นุ่มนวล

EOS R5/ RF24-70mm f/2.8L IS USM/ FL: 70 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/100 วินาที, EV-1.0)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ

การจัดองค์ประกอบภาพที่ดีจำเป็นต้องมีตัวแบบที่ชัดเจนและโดดเด่นเป็นส่วนประกอบพื้นฐาน ข้อดีของเลนส์ซูม f/2.8 คือสามารถทำให้แบ็คกราวด์เบลอได้มากไม่ว่าคุณจะใช้ทางยาวโฟกัสเท่าใด การเบลอแบ็คกราวด์จะลดความโดดเด่นของรายละเอียดที่เราไม่ต้องการและดึงความสนใจของผู้ชมออกไปจากตัวแบบ (“สิ่งรบกวนสายตา”) ซึ่งข้อนี้อาจเป็นกระทั่งเหตุผลหลักที่ทำให้คุณตัดสินใจซื้อเลนส์ซูม f/2.8 มาตั้งแต่แรก!

เคล็ดลับระดับมือโปร: ซูมให้สุดและเข้าใกล้ตัวแบบให้มากขึ้น

หากแบ็คกราวด์ยังเบลอไม่พอ ให้ซูมจนสุดและนำเลนส์เข้าใกล้ตัวแบบให้มากที่สุดเท่าที่คุณสามารถทำได้ วิธีนี้จะช่วยให้คุณได้โบเก้ที่เด่นชัดที่สุด!

 

แนวคิดสำคัญ: ปัจจัย 4 ข้อที่ช่วยให้โบเก้สวยงามขึ้น

ปัจจัยที่ 1: ใช้รูรับแสงกว้างสุด

ใยแมงมุมที่มีโบเก้ดอกไม้ในแบ็คกราวด์

EOS R5 Mark II/ RF24-70mm f/2.8L IS USM/ FL: 70 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/1600 วินาที, EV+0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ

ภาพใยแมงมุมที่มีโบเก้ f/2.8

f/2.8

ภาพใยแมงมุมที่มีโบเก้ f/4

f/4

ภาพใยแมงมุมที่มีโบเก้ f/5.6

f/5.6

การถ่ายภาพโดยใช้รูรับแสงกว้างสุดของเลนส์ (ค่า f ต่ำสุด) จะได้ระยะชัดที่ตื้นขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้แบ็คกราวด์เบลอมากขึ้น เนื่องจากคุณสามารถใช้ค่า f/2.8 ได้กับทางยาวโฟกัสระยะใดก็ได้ของเลนส์ซูม f/2.8 คุณจึงควรลองถ่ายภาพให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้แล้วดูว่าผลลัพธ์ที่ได้เป็นอย่างไร!

 

เคล็ดลับระดับมือโปร: รู้วิธีควบคุมสิ่งที่อยู่ในโฟกัส

บางครั้ง ระยะชัดที่ตื้นทำให้ตัวแบบของคุณอยู่ในโฟกัสมากขึ้นได้ยาก การใช้ค่า f-stop สูงๆ มักจะแก้ปัญหานี้ได้ แต่หากจำเป็นต้องรักษาระดับการเบลอให้คงเดิม ให้ลองปรับมุมกล้องของคุณเพื่อให้ฉากมีความลึกน้อยลง คุณอาจเพียงแค่ขยับหรือเอียงกล้องนิดเดียวเท่านั้น!

อ่านเพิ่มเติมได้ที่:
พื้นฐานเกี่ยวกับเลนส์ #4: โฟกัสชัดลึก (ข้อ 3)

 

ปัจจัยที่ 2: ใช้ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้น

ภาพโคลสอัพของต้นอ่อน

ถ่ายที่ 200 มม.
EOS R5/ RF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 200 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/320 วินาที, EV-1.3)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ

เฟรมภาพไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะเปลี่ยนไปเมื่อคุณหมุนวงแหวนซูม! ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้นจะทำให้โบเก้ในแบ็คกราวด์ดูใหญ่ขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเกิดจากการดึงแบ็คกราวด์ให้เข้ามาใกล้ขึ้น (“การบีบอัดฉาก”) ข้อดีอย่างหนึ่งของเลนส์ซูม f/2.8 คือ เพียงหมุนวงแหวนซูม คุณก็สามารถซูมเข้าออกได้ ทำให้เป็นเรื่องง่ายขึ้นที่จะทดลองถ่ายภาพและดูว่าทางยาวโฟกัสที่แตกต่างกันทำให้ภาพที่ออกมาเปลี่ยนไปอย่างไร

 

ปัจจัยที่ 3: เข้าใกล้ตัวแบบให้มากขึ้น

ภาพดอกไม้แบบโคลสอัพที่มีโบเก้อันน่าทึ่ง

ระยะห่างประมาณ 10 ซม.

ภาพดอกไม้แบบโคลสอัพจากระยะไกลกว่ามีโบเก้น้อยกว่า

ระยะห่างประมาณ 20 ซม.

ยิ่งแบ็คกราวด์อยู่ห่างจากตัวแบบมาก ก็จะยิ่งดูเบลอมาก เมื่อคุณเข้าใกล้ตัวแบบมากขึ้น แบ็คกราวด์จะห่างตามไปด้วย (เมื่อเทียบกับระยะห่างระหว่างคุณกับตัวแบบ) หากไม่สามารถเขยิบเข้าไปใกล้ตัวแบบจริงๆ ได้ การซูมเข้าก็ให้ผลลัพธ์เช่นเดียวกัน!

 

ปัจจัยที่ 4: ใช้ประโยชน์จากระยะห่างระหว่างตัวแบบกับโฟร์กราวด์

ต้นซากุระที่มีโบเก้ของดอกไม้ในโฟร์กราวด์

EOS R5/ RF70-200mm f/2.8L IS USM/ FL: 100 มม./ Aperture-priority AE (f/2.8, 1/640 วินาที, EV-0.7)/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ

โบเก้สามารถอยู่หน้าตัวแบบได้ด้วย! แต่ไม่ว่าจะอยู่ในโฟร์กราวด์หรือแบ็คกราวด์ หากวัตถุอยู่ไกลจากตัวแบบที่อยู่ในโฟกัสมากเท่าใด ก็จะยิ่งดูเบลอมากขึ้นเท่านั้น

ระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างกล้อง ตัวแบบ และวัตถุที่เป็นโบเก้ในโฟร์กราวด์

 

สรุป: วิธีถ่ายภาพให้โบเก้เบลอมากขึ้น

– ใช้ค่ารูรับแสงกว้างสุด f/2.8!
– ซูมเข้าให้มากที่สุด
– เข้าใกล้ตัวแบบให้มากขึ้น

เลนส์ซูม f/2.8 ช่วยให้คุณใช้ค่า f/2.8 ได้ไม่ว่าจะซูมมากแค่ไหน คุณจึงจัดองค์ประกอบภาพได้ตามต้องการโดยที่โบเก้ยังคงเด่นชัดอยู่!

 

 

เลนส์ซูม f/2.8 ที่แนะนำ

สามเลนส์ f/2.8L สุดเทพ

Rf15-35mm f/2.8L IS USM, RF24-70mm f/2.8L IS USM และ RF70-200mm f/2.8L IS USM

หากคุณวางแผนที่จะลงทุนไปกับเลนส์ซูม f/2.8 ที่ดีที่สุดที่มีจำหน่าย เลนส์ซีรีย์ L ระดับมืออาชีพเหล่านี้มีโครงสร้างที่แข็งแกร่งพร้อมด้วยคุณภาพด้านออพติคอลสูงสุด เลนส์เหล่านี้เป็นเลนส์ที่ช่างภาพมากมายเลือกใช้ในการทำงาน
RF15-35mm f/2.8L IS USM
RF24-70mm f/2.8L IS USM
RF70-200mm f/2.8L IS USM

RF16-28mm f/2.8 IS STM และ RF28-70mm f/2.8 IS STM

เลนส์เหล่านี้มีขนาดเล็กกว่า เบากว่า และออกแบบมาให้ผู้ใช้เข้าถึงได้มากขึ้นด้วยราคาที่จับต้องได้ และยังมีความสามารถในการป้องกันฝุ่นละอองและหยดน้ำ แม้จะเป็นการป้องกันคนละระดับเมื่อเทียบกับเลนส์ L
RF16-28mm f/2.8 IS STM
RF28-70mm f/2.8 IS STM

เกี่ยวกับผู้เขียน

Digital Camera Magazine

นิตยสารรายเดือนที่เชื่อว่าความสุขของการถ่ายภาพจะยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ถ่ายภาพได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟังก์ชั่นต่างๆ ของกล้องมากยิ่งขึ้น นิตยสารเล่มนี้เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับกล้องรุ่นใหม่ๆ รวมถึงคุณสมบัติของกล้องและนำเสนอเทคนิคการถ่ายภาพอย่างหลากหลาย
จัดพิมพ์โดย Impress Corporation

Chikako Yagi

Chikako Yagi มีอายุเพียง 20 ปีตอนที่เธอเริ่มเรียนรู้การถ่ายภาพด้วยตัวเองโดยใช้กล้องฟิล์ม SLR เธอออกจากงานประจำมาเป็นช่างภาพทิวทัศน์เต็มตัวในปี 2016 เธอเคยฝึกงานกับช่างภาพชื่อดังหลายราย เช่น Kiyoshi Tatsuno และ Tomotaro Ema และยังเป็นสมาชิกของชมรม Shizensou Club ซึ่งก่อตั้งโดย Kiyoshi Tatsuno และเป็นหนึ่งในชมรมช่างถ่ายภาพทิวทัศน์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ในปี 2013 เธอได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 10 อันดับช่างภาพฝีมือดีของชมรม Tokyo Camera Club

www.chikakoyagi.com
Instagram: @chikako_yagi


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *